Sunday 20 January 2008

ปูตินเป็นประธานาธิบดี...?

วันก่อนโน้นอ่านบทความในเอเชียไทม์ แล้วก็มีเรื่อง Putin for president ... of the United States (Spengler) ที่เขียนว่าปูตินน่าจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป เพราะว่ามีบุคลิกลักษณะทางการเมืองแบบเดียวกับพวกที่ทำให้อเมริกาเข้าสู่ปัญหาในตอนแรก (ฮ่า)

คนเขียนบอกว่าปูตินแกร่งได้ใจ โดยเฉพาะในด้านภาวะผู้นำ (ซึ่งดูเหมือนว่าไม่มีผู้สมัครรายไหนที่พร้อมเรื่องนี้เลย) แล้วก็ยังสามารถจะกอบกู้เศรษฐกิจรัสเซียที่วิบัติจากติดลบมา และกู้สถานะในเวทีโลกมาได้อีก ทั้ง ๆ ที่การเป็นผู้นำในรัสเซียนั้นแค่จะรวบอำนาจไว้ได้ก็ลำบากแล้ว นอกเหนือจากนั้น มีการพูดถึงสภาพความได้เปรียบหลายประการของสหรัฐฯ ในอดีต และบทบาทที่ผิดพลาดทั้งการต่างประเทศ และเศรษฐกิจไว้หลายอย่างเหมือนกัน

แต่ประเด็นที่ชอบมากและบ้ามากก็คือ ปูตินจะพ้นตำแหน่งสมัยที่สองก็ช่วงราว ๆ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่รับตำแหน่งพอดี ฉะนั้นก็มีจะมีเวลาเหลือเฟือที่จะทำให้ปูตินเป็นคนอเมริกัน แล้วก็มีเวลาแก้กฏหมายให้พวก foreign-born เป็นประธานาธิบดีได้ ซึ่งถ้าจะเป็นห่วงว่าปูตินพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อยเท่านั้น ก็ไม่มีปัญหา เพราะบุชเองก็พูดไม่ได้มากนักหรอก ฮ่า!

ปล.อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่า Spengler ค่อนข้างชื่มชมเรแกนพอตัวเพราะเปลี่ยนเทียบไว้ว่าเป็นคนทำให้ทุกอย่างกลับมาดี และเศรษฐกิจก็รุ่งเรืองชนิดที่ถนนทุกสายมุ่งสู่สหรัฐฯ ถึงขั้นใช้คำว่า Reagon won the Cold War และมองว่ายุครุ่งเรืองสูงสุดของสหรัฐฯ เกิดหลังสงครามเย็น (ที่เห็นได้ชัดก็คือ บอกว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องออม ไม่ต้องเรียน ไม่ต้องคิดเรื่องความท้าทายทางยุทธศาสตร์ใด ๆ แล้ว แค่ส่งออกภาพลักษณ์ตัวเองไปก็พอ) ซึ่งทำให้อดโยงไปถึง Wallerstein ไม่ได้ที่นอกจากอธิบายการเกิด ดำรงอยู่ และสิ้นสุดของสงครามเย็นไว้อีกแบบแล้ว ก็ยังมองว่าความเป็นเจ้าที่เกิดอยู่ถึงช่วงปี 1967 เท่านั้น ในแง่นี้ เห็นได้ชัดว่า ถึงแม้เจ้าตัวจะรู้มาก และรู้เยอะ แต่ความรู้ค่อนข้างเป็น conventional พอสมควร

3 comments:

Anonymous said...

Spengler นี่ใช่
Oswald Spengler หรือไม่
เขาเป็นใครกัน มีความเห็นว่าอย่างไร

"ซึ่งทำให้อดโยงไปถึง Wallerstein ไม่ได้ที่นอกจากอธิบายการเกิด ดำรงอยู่ และสิ้นสุดของสงครามเย็นไว้อีกแบบแล้ว ก็ยังมองว่าความเป็นเจ้าที่เกิดอยู่ถึงช่วงปี 1967 เท่านั้น ในแง่นี้ เห็นได้ชัดว่า ถึงแม้เจ้าตัวจะรู้มาก และรู้เยอะ แต่ความรู้ค่อนข้างเป็น conventional พอสมควร"

น่าสนใจว่า รู้มาก รู้เยอะ นี่เรื่องอะไร
และความรู้ที่ว่า conventional เป็นอย่างไร
แล้วความรู้แบบนี้มีข้อเสีย ข้อดีอย่างไร

แล้วความรู้แบบไหนถึงจะสุดยอดในสายตาของมิ้ง

ฝากไว้แค่นี้นะ ชอบมาก ได้ลับคมปัญญา

"ฤษณรส"

ming-ki said...

ตอบคำถาม คพบ เป็นข้อ ๆ ดังนี้ค่ะ
(อย่างไรก็ตาม ง่วงมาก อาจจะตอบได้เบลอ ๆ งง ๆ แต่ก็น่าจะใช้ได้บ้างแหละน่า TT)

Spengler คือใคร? และความรู้แบบ conventional เป็นอย่างไร?

ฮ่า คงไม่ใช่ Oswald Spengler แน่นอนค่ะ เพราะว่าขานั้นมีชีวิตอยู่ช่วง 1880 – 1936 นี่นา คงไม่ทันปูตินแน่ ๆ (อืม พูดใหม่อีกที แก้เป็นว่า ตัวปูตินเองก็ไม่ทัน Oswald Spengler เหมือนกัน ฮ่า)

แต่ The Decline of the West กับ Perspectives of World History ก็ดูน่าสนใจนะคะ วันหลังถ้ามีเวลาก็คงได้มีโอกาสศึกษาเพิ่มน่ะ :D

Spengler ในที่นี้ของเรา เป็นคอลัมนิสต์ของ Asia Times Online ค่ะ แล้วคุณเขาก็เป็นนักเขียนลึกลับที่ไม่เปิดเผยตัวจริง ใช้นามปากกาว่า Spengler เฉย ๆ แม้เราจะไม่รู้เกี่ยวกับภูมิหลังและความเป็นมาของเจ้าตัวเลย แต่จากทัศนคติและข้อเขียนแสดงให้เห็นว่า “น่า” จะเป็นพวก White Christian Man ซึ่งก็เปิดไปสู่คำตอบต่อมา นั่นก็คือความรู้ด้วยทัศนคติแบบตะวันตกที่เป็นแบบ White Christian Man นั่นแหละ ก็คือสิ่งที่มิ้งเรียกว่า conventional ซึ่งเป็นการคิดให้ตะวันตกเป็นศูนย์กลางโลก และตัดสินสิ่งต่าง ๆ ด้วยมุมมองเช่นนั้นอย่างไรล่ะคะ

ข้อเสีย ข้อดี?
ข้อดีของความรู้แบบนี้ก็คือ เป็นศูนย์กลางและองค์ความรู้ที่ใช้มองสิ่งต่าง ๆ ความเป็นไปในโลกมาตลอด ซึ่งก็หมายถึงว่าเป็นกระแสหลักที่ใช้ศึกษาด้วย แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย คือไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้มุมมองที่เที่ยงแท้ และในบางกรณี ก็อาจเป็นถึงขั้นไม่สามารถเหตุการณ์ที่เกิดได้ – ทั้งนี้เพราะ rational ของคนในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ดังเช่นการพยายามอธิบายรูปแบบประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้เป็นแบบสหรัฐฯ และให้เป็นตะวันตกมังคะ

ความรู้ที่สุดยอดในสายตามิ้ง?
ความรู้ที่พยายามคิดหาคำอธิบายนอกกรอบมังคะ เป็นพวกกระแสรองทั้งหลาย (โดยเฉพาะพวกที่มองด้วยความเป็นจริงผ่านเรื่องของผลประโยชน์ ฮ่าๆๆ) ถ้าถาม มิ้งก็คงมีรายชื่อนักวิชาการกลุ่มเดิม นั่นก็คือ
อาจารย์กุลลดา – ใช้ผลประโยชน์อธิบายแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการกระทำได้ดี ผลประโยชน์เป็นตัวอธิบายทุกอย่างนะ ถ้าเข้าใจตัวนี้ก็เข้าใจหมด
อาจารย์นิธิ – อธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมได้ดี โดยเฉพาะในเรื่องวัฒนธรรม และบทบาทของรัฐ
Machiavelli – ผลประโยชน์ ผลประโยชน์ และผลประโยชน์ .. ความรักของมิ้งที่มีต่อ Machiavelli ก็รู้ ๆ กันอยู่นะคะ
Gramsci – เรื่องการครอบงำทางความคิด ทำเป็น normalization นี่สุดยอดจริง ๆ ไม่ต้องพูดมากกว่านี้แล้ว :D
นอกเหนือจากนี้ช่วงหลัง ๆ มีเพิ่มมาอีก คือ
อาจารย์ชัยชนะ อิงคะวัต – รับรู้ผ่านรายการวิเคราะห์ข่าวช่วงตี 1 กับคุณวารินทร์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทฤษฎีดีมาก ๆ และที่สำคัญคือเปิดใจกว้าง :D
อาจารย์พิชญ์ – คนนี้มิ้งไม่ค่อยรู้จักมาก (อ. เน้นปกครองและการเมืองไทย ซึ่งมิ้งไม่ถนัดเสียเลย) แต่งานหลายชิ้น โดยเฉพาะใน "การเมืองของไพร่" นี่ชนะเลิศจริง ๆ ว่าจะเขียนชมแล้วก็ไม่ได้เขียนซะที ฉีกมุมมองในเรื่องการเมืองไทยได้น่าสนใจ และคิดตามต่อมาก ๆ

ก็คงประมาณนี้ ลาไปนอนล่ะ :D

Anonymous said...

"อาจารย์พิชญ์ – คนนี้มิ้งไม่ค่อยรู้จักมาก (อ. เน้นปกครองและการเมืองไทย ซึ่งมิ้งไม่ถนัดเสียเลย)"

แล้วมิ้งถนัดเรื่องไหนละ ช่วยบอกที วันหลังจะได้สอบถามและกัดไปด้วยในตัว 555

"ฟ้าหลังฝน"